บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แนวทางแก้น้ำเสียคลองปากท่อ

แนวทางแก้น้ำเสียคลองปากท่ออย่างยั่งยืน


นายวิชาญ รังสีวรรธนะ นายกเทศมนตรีตำบลปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่าปัญหาน้ำเสียโดยส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุ น้ำใช้เหลือจากชุมชน หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ และภาคเกษตรกรรม ที่ปล่อยน้ำเสียหรือผลกระทบจากเคมีภัณฑ์ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการบำบัดหรือการจัดการน้ำที่ดีเทศบาลตำบลปากท่อ จังหวัดราชบุรี ทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับคลองสาขา(คลองปากท่อ) และเป็น คลองทิ้งน้ำของชลประทาน ลงสู่คลองประดู่ และไหลออกไปสู่ทะเล คลองปากท่อจึงเป็นคลองที่รับน้ำไหลผ่านกลางชุมชนปากท่อ ซึ่งมีต้นน้ำที่ไหลผ่านโรงงาน กลุ่มปศุสัตว์ (เลี้ยงสุกร) และบ้านเรือนในชุมชนรอบ ๆ คลอง โดยปกติ คลองปากท่อในช่วงที่มีการส่งน้ำจากคลองชลประทานเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ทำเกษตรกรทำนา ปีละ 2 ครั้ง น้ำในคลองปากท่อ จะไม่เสีย ซึ่งตรงกับแนวพระราชดำริ น้ำดีไล่น้ำเสียการใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไปและช่วยให้น้ำเน่าเสียเจือจางลง พระราชดำรินี้ได้นำมาแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียใน คลองปากท่อได้เป็นอย่างดี โดยใช้น้ำจากชลประทานเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งสกปรกจากคลองต่างๆ ทำให้คลองสะอาดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่สืบเนื่องจากการปล่อยน้ำจากคลองชลประทานนั้น มีกำหนดช่วงระยะเวลาการปล่อยน้ำ ฉะนั้นในช่วงที่ชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำดีไม่ไล่เลี้ยงน้ำเสีย คลองปากท่อ (คลองน้ำทิ้งชลประทาน) ได้ตลอดเวลาซึ่งเป็นแผนการบริหารจัดการใช้น้ำของชลประทานที่มีเหตุผลและความจำเป็นเช่นกัน ก็เป็นช่วงที่น้ำในคลองปากท่อ จะนิ่งและไม่มีการหมุนเวียนของน้ำดีมาใช้ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้ง น้ำฝนที่จะตกลงมาเจือจางก็ไม่มี ระดับน้ำในคลองปากท่อ ก็มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร ก็จะเริ่มเกิดการเน่าเสียในระยะเวลาหนึ่งและก็ส่งผลกระทบอย่างมากกับ “คลองประดู่ ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และยาวนาน ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้เป็นคลองสวยน้ำใสที่ยั่งยืนตลอดไป”

ในปี พ.ศ. 2553 เทศบาลตำบลปากท่อได้ร่วมมือกับองค์กรจัดการน้ำเสียและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาทำการสำรวจปัญหาและออกแบบระบบการจัดการน้ำเสียในคลองปากท่อที่ส่งผลกระทบต่อคลองประดู่ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริ มาประกอบใช้ในหลักธรรมชาติ บำบัดธรรมชาติ การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและพืชน้ำประกอบด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบบ่อชีวภาพ ระบบหญ้ากรองนำหลักธรรมชาติเหล่านี้ มาใช้กับธรรมชาติ โดยน้ำที่ได้จากบำบัดแล้วมาใช้ในการทำการเกษตรกรรม และใช้เป็นน้ำสำหรับรดสนามหญ้าสนามฟุตบอลและสวนสุขภาพได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งคาดว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ทางเทศบาลตำบลปากท่อ คงจะได้รับการอนุมัติงบประมาณ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำเป็นโครงการนำร่องในเรื่องของต้นแบบการจัดการน้ำเสียในชุมชนโดยเทศบาลสมทบงบประมาณตนเอง 10 %

อนึ่ง ปัญหาที่พบเห็นส่วนใหญ่ไม่ว่าที่ใด ปัญหาที่สำคัญคือการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งปศุสัตว์ ขนาดใหญ่ โดยหลักการจะให้มีการติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งสู่แม่น้ำลำคลอง แต่ทางปฏิบัติจริง การบริหารจัดการน้ำเสียของโรงงานซึ่งเป็นภาคธุรกิจ นั้นเป็นทุนดำเนินการค่อนข้างสูงมาก เช่นค่าไฟฟ้า ฯ ภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญโดยการยอมเสียสละเพื่อสิ่งนี้ได้เต็มที่หรือไม่ ในทางกลับกัน ปัญหาน้ำเสียถือว่าเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศ ทำไมเราไม่ใช่แนวคิดการทำงานเพื่อความสำเร็จร่วมกัน ดีกว่าใช้หลักกฎหมายเข้าไปคอยเล่นงานและจัดการเป็นระยะ ๆ ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และก็เป็นปัญหาสะสมกันมานานนับสิบปี ก่อนที่จะไม่มีคลองน้ำดีหลงเหลืออยู่อีก โดยภาครัฐจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่น การออกกฎระเบียบพิเศษเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเสียของภาคเอกชน เช่น การลดค่าไฟฟ้า มากกว่า 50 % หรือการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อไป...

สร้างศูนย์เด็กก่อนปฐมวัย

อบต.เขาขลุง สร้างศูนย์เด็กก่อนปฐมวัย


นายภูเบศ โสดสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เผยว่า ในฐานะ อบต.เขาขลุง เป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่รับผิดชอบดูแลการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งการบริการสาธารณะประโยชน์ให้แก่ประชาชนแล้ว ทางคณะผู้บริหารยังได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการพัฒนาเด็กเล็กก่อนปฐมวัย จึงได้ทำโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น ซึ่งใช้พื้นที่บริเวณด้านหลังของสำนักงาน อบต.เขาขลุง เป็นสถานที่ก่อสร้าง โดยทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับทาง อบต.เป็นเงิน 1,200,000 บาท และ อบต.เขาขลุง ได้ตั้งงบประมาณเพิ่มอีก 1,270,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,470,000 บาท (สองล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นบาท) การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์และเปิดรับเด็กการปฐมวัยได้ในปีการศึกษา 2554
นายก อบต.เขาขลุง กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ สามารถจะรองรับเด็กก่อนปฐมวัยได้จำนวน 90 คน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โรงเรียนอนุบาล ร่วมทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ที่ต้องออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน ไม่มีเวลาดูแลบุตรของตัวเอง สามารถที่จะนำมาฝากให้ทางศูนย์เป็นผู้ดูแล และทาง อบต ยังได้บริการจัดหารถยนต์รับส่ง ร่วมทั้งเรื่องอาหารและนม ตลอดจนชุดนักเรียนของเด็กๆ ฟรี อีกด้วย.

ป้องกันอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด


นายอำเภอบ้านโป่ง ขอความร่วมมือทุกฝ่าย ช่วยป้องกันอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด


นายครรลอง ยุทธชัย นอภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า นับวันสถิติการเกิดอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง ได้มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ทางอำเภอจึงได้ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้มีส่วนร่วมมือกันป้องกัน โดยเฉพาะในส่วนของกำนัน-สารวัตรกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสายงานตรงของทางอำเภอ จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงบรรดาผู้ปกครองที่จะต้องดูแลบุตรหลานของตนเองให้ดีด้วย

นายอำเภอบ้านโป่ง กล่าวไปต่อว่า การขอความร่วมมือยังได้เน้นไปที่กลุ่มของผู้ประกอบการ ตามสถานบริการ ร้านอาหารกลางคืน ร้านเกมอินเตอร์เน็ต และโต๊ะสนุกเกอร์ โดยเป้าหมายหลัก คือ ต้องการดึงผู้ประกอบการทุกแห่งให้ความร่วมมือ ในการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และปัญหาอื่นๆ เหมือนเป็นการสร้างรั้วทางสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อให้พื้นที่อำเภอบ้านโป่ง เป็นเมืองน่าอยู่ โดยเฉพาะการเอาใจใส่ดูแลเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าไปใช้บริการตามเวลาที่กำหนด ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเยาวชนเหล่านั้น ส่วนใหญ่ยังขาดวุฒิภาวะ หากมีสิ่งยั่วยุให้ไปในทางเสื่อมเสียก็อาจจะหลงใหลได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งรีบดำเนินการป้องกันตั้งแต่นอนนี้ และหากทุกฝ่ายร่วมมือกันเป็นอย่างดี ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆได้อย่างแน่นอน.

พัฒนาสถานศึกษาและนักเรียน

เทศบาลเมืองบ้านโป่ง นำ (Benchmarking) มาใช้พัฒนาสถานศึกษาและนักเรียน ให้เป็นเลิศ




นายพรรณชัย เจนนพกาญจน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ดูแลการศึกษาและส่งเสริมประเพณี เปิดเผยว่า จากการที่ได้ตรวจเยี่ยมและพบปะสนทนากับคณะผู้บริหาร ครู-อาจารย์ ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 3 แห่ง คือ โรงเรียนเทศบาล 1 (ทรงพลวิทยา) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดบ้านโป่ง) และ โรงเรียนเทศบาล 3 (ประชายินดี ) ถึงแนวทางในการจัดการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรับทราบถึงความต้องการ สภาพปัญหาและอุปสรรคของโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนให้โรงเรียนในสังกัด เดินทางไปสู่ความเป็นเลิศในทุกๆด้านอย่างถูกทิศทาง จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาด้านการศึกษาทั้งในด้านความสามารถและประสิทธิภาพของครู ความพร้อมของหลักสูตรการศึกษา อาคาร-สถานที่ รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ด้านความรู้ทางวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม ให้เท่าเทียมหรือดีกว่าโรงเรียนอื่นๆ จึงได้กำหนดแนวทางการนำ (Benchmarking) มาใช้ในโรงเรียนในสังกัดเทศบาล เพื่อให้การพัฒนางานเข้าสู่มาตรฐานทั้ง 3 ด้าน คือ 1.มาตรฐานด้านการบริหารโรงเรียน 2.มาตรฐานด้านการเรียนการสอน และ 3.มาตรฐานด้านคุณภาพนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ

ซึ่ง การเปรียบเทียบมาตรฐาน (Benchmarking) จะช่วยให้เห็นภาพรวมของการจัดการศึกษาของโรงเรียน ได้พัฒนาและนำศักยภาพของโรงเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เท่าเทียมกับโรงเรียนอื่นๆที่ทำดีอยู่แล้ว และทำให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อเป็นโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศทางการศึกษาในที่สุด.

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อบจ.ราชบุรี มอบทุนการศึกษา

อบจ.ราชบุรี มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาและผู้ด้อยโอกาส




นายพงษ์ศักดิ์ กิจประเสริฐ รองนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณ เพื่อเป็นทุนการศึกษา สำหรับเด็กนักเรียนนักศึกษาและผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี พิจารณาเห็นว่า มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องส่งเสริมพัฒนาสตรี เด็ก และเยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนประชาชนให้ได้รับการศึกษา จึงได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษาและผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดราชบุรี จึงได้ตั้งงบประมาณ ประจำปี 2553 เป็นจำนวนเงิน 2,500,00 บาท (สองล้านห้าแสนบาท) และเพื่อให้เด็กและเยาวชนพร้อมทั้งผู้ด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนได้มีโอกาสเพื่อศึกษาต่อ จะทำให้เด็กและเยาวชนมีการศึกษาทั่งถึงอย่างมีคุณภาพ โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาผู้ที่จะได้รับทุนในปีนี้ทั้งสิ้นจำนวน 153 ทุน ซึ่งเป็นระดับ อนุปริญญา 59 ทุน ในระดับปริญญาตรี 76 ทุน โดยมีกำหนดให้ทุนละไม่เกิน 33,000 บาท ต่อทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานศึกษาแต่ละแห่งที่เรียกเก็บ สำหรับเป็นทุนดังกล่าวเป็นทุนแบบให้เปล่า ไม่มีการผู้พันใดๆ แต่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้รับทุนการศึกษาหรือโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ศูนย์บริการสาธารณสุข

ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองราชบุรีช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล


นายพิชัย นันทชัยพร นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อบริการฉับไว ไร้ความแออัด จึงได้เปิดศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองราชบุรี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน มีการพัฒนาแนวคิดและพัฒนาปรับระบบการบริหารจัดการให้เป็นเครือข่ายในชุมชนอีกแห่งหนึ่ง เป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนที่จะเข้าถึงบริการอย่างสะดวกรวดเร็ว สู่การสร้างสุขภาพ ซึ่งก่อผลดีทั้งในระดับตัวบุคคล ครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สามารถบริการได้หลากหลายกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปใช้บริการที่อื่น จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และเข้าถึงการบริการ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัยไว้บริการ อีกทั้งเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ จึงได้มีการปรับปรุงและขยายบริการด้านแพทย์แผนไทย และด้าน ทันตกรรม โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการ ได้เป็นอย่างดี

โครงการพัฒนาเยาวชน

อบจ. เมืองโอ่งร่วมจัด “โครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบสร้างสรรค์สังคม”


นายวันชัย ธีระสัตยกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ตามที่ คณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมจังหวัดราชบุรี ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมของจังหวัดราชบุรี ประจำปี 2552 ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนเป็นอันดับแรกของจังหวัดราชบุรี คือปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกมส์ มั่วสุม เล่นการพนันต่างๆ และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมพบเห็นได้ ที่สาธารณะ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และติดสารเสพติดร้ายแรง เช่น ยาบ้า ยาอี สารระเหย กัญชา ซึ่งนับวันปัญหาต่างๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ร้านเกมส์ ฯลฯ ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก และเยาวชนทั้งในด้านความเจริญก้าวหน้า และปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ควรร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เข้ามามีบทบาทในการจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบสร้างสรรค์สังคม” ในการแก้ไขปัญหาสังคมด้านเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น