บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แนวทางแก้น้ำเสียคลองปากท่อ

แนวทางแก้น้ำเสียคลองปากท่ออย่างยั่งยืน


นายวิชาญ รังสีวรรธนะ นายกเทศมนตรีตำบลปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่าปัญหาน้ำเสียโดยส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุ น้ำใช้เหลือจากชุมชน หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ และภาคเกษตรกรรม ที่ปล่อยน้ำเสียหรือผลกระทบจากเคมีภัณฑ์ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการบำบัดหรือการจัดการน้ำที่ดีเทศบาลตำบลปากท่อ จังหวัดราชบุรี ทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับคลองสาขา(คลองปากท่อ) และเป็น คลองทิ้งน้ำของชลประทาน ลงสู่คลองประดู่ และไหลออกไปสู่ทะเล คลองปากท่อจึงเป็นคลองที่รับน้ำไหลผ่านกลางชุมชนปากท่อ ซึ่งมีต้นน้ำที่ไหลผ่านโรงงาน กลุ่มปศุสัตว์ (เลี้ยงสุกร) และบ้านเรือนในชุมชนรอบ ๆ คลอง โดยปกติ คลองปากท่อในช่วงที่มีการส่งน้ำจากคลองชลประทานเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ทำเกษตรกรทำนา ปีละ 2 ครั้ง น้ำในคลองปากท่อ จะไม่เสีย ซึ่งตรงกับแนวพระราชดำริ น้ำดีไล่น้ำเสียการใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไปและช่วยให้น้ำเน่าเสียเจือจางลง พระราชดำรินี้ได้นำมาแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียใน คลองปากท่อได้เป็นอย่างดี โดยใช้น้ำจากชลประทานเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งสกปรกจากคลองต่างๆ ทำให้คลองสะอาดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่สืบเนื่องจากการปล่อยน้ำจากคลองชลประทานนั้น มีกำหนดช่วงระยะเวลาการปล่อยน้ำ ฉะนั้นในช่วงที่ชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำดีไม่ไล่เลี้ยงน้ำเสีย คลองปากท่อ (คลองน้ำทิ้งชลประทาน) ได้ตลอดเวลาซึ่งเป็นแผนการบริหารจัดการใช้น้ำของชลประทานที่มีเหตุผลและความจำเป็นเช่นกัน ก็เป็นช่วงที่น้ำในคลองปากท่อ จะนิ่งและไม่มีการหมุนเวียนของน้ำดีมาใช้ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้ง น้ำฝนที่จะตกลงมาเจือจางก็ไม่มี ระดับน้ำในคลองปากท่อ ก็มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร ก็จะเริ่มเกิดการเน่าเสียในระยะเวลาหนึ่งและก็ส่งผลกระทบอย่างมากกับ “คลองประดู่ ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และยาวนาน ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้เป็นคลองสวยน้ำใสที่ยั่งยืนตลอดไป”

ในปี พ.ศ. 2553 เทศบาลตำบลปากท่อได้ร่วมมือกับองค์กรจัดการน้ำเสียและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาทำการสำรวจปัญหาและออกแบบระบบการจัดการน้ำเสียในคลองปากท่อที่ส่งผลกระทบต่อคลองประดู่ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริ มาประกอบใช้ในหลักธรรมชาติ บำบัดธรรมชาติ การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและพืชน้ำประกอบด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบบ่อชีวภาพ ระบบหญ้ากรองนำหลักธรรมชาติเหล่านี้ มาใช้กับธรรมชาติ โดยน้ำที่ได้จากบำบัดแล้วมาใช้ในการทำการเกษตรกรรม และใช้เป็นน้ำสำหรับรดสนามหญ้าสนามฟุตบอลและสวนสุขภาพได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งคาดว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ทางเทศบาลตำบลปากท่อ คงจะได้รับการอนุมัติงบประมาณ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำเป็นโครงการนำร่องในเรื่องของต้นแบบการจัดการน้ำเสียในชุมชนโดยเทศบาลสมทบงบประมาณตนเอง 10 %

อนึ่ง ปัญหาที่พบเห็นส่วนใหญ่ไม่ว่าที่ใด ปัญหาที่สำคัญคือการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งปศุสัตว์ ขนาดใหญ่ โดยหลักการจะให้มีการติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งสู่แม่น้ำลำคลอง แต่ทางปฏิบัติจริง การบริหารจัดการน้ำเสียของโรงงานซึ่งเป็นภาคธุรกิจ นั้นเป็นทุนดำเนินการค่อนข้างสูงมาก เช่นค่าไฟฟ้า ฯ ภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญโดยการยอมเสียสละเพื่อสิ่งนี้ได้เต็มที่หรือไม่ ในทางกลับกัน ปัญหาน้ำเสียถือว่าเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศ ทำไมเราไม่ใช่แนวคิดการทำงานเพื่อความสำเร็จร่วมกัน ดีกว่าใช้หลักกฎหมายเข้าไปคอยเล่นงานและจัดการเป็นระยะ ๆ ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และก็เป็นปัญหาสะสมกันมานานนับสิบปี ก่อนที่จะไม่มีคลองน้ำดีหลงเหลืออยู่อีก โดยภาครัฐจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่น การออกกฎระเบียบพิเศษเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเสียของภาคเอกชน เช่น การลดค่าไฟฟ้า มากกว่า 50 % หรือการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น